7 มิถุนายน 2565

กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม

3635

สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกาย และการเข้าถึงนโยบายส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุไทย

 


สถานการณ์ ทิศทาง และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย

ประชากรทั่วโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับสถานการณ์สังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมของประชากรมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันอัตราการเกิดของประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) กลับมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่มีแนวโน้มทางประชากรไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และใช้เวลาเพียง 17 ปีเท่านั้น ในการยกระดับจากสังคมสูงอายุเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) จากสถานการณ์ในอดีตที่ผ่านมาในปี 2506-2526 สังคมไทยมีจำนวนการเกิดมากกว่า 1 ล้านคน (คลื่นประชากรหรือประชากรรุ่นเกิดล้านคน) และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจำนวนการเกิดได้ลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2563 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน ส่งผลให้ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุมากกว่าวัยเด็ก และในปี 2566 นี้ประชากรรุ่นเกิดล้านคนรุ่นแรกเกิดในปี 2506 กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี) อย่างสมบูรณ์ โดยคาดการณ์ประชากรสูงอายุไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.0 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน เข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-aged society) เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และจากสถานการณ์ของผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพและการเงิน เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรังเป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนกำหนดมาตรการและแผนงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างทันท่วงที (1)

จากสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงอายุของสังคมโลก หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในมิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติการร่วมกันพัฒนา (Partnership) โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่มุ่งเน้นให้ประชากรมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่มีคุณภาพ และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตามเป้าหมายที่ 3 ของ SDGs เนื่องจากการส่งเสริมและสนับสนุนทางด้านสุขภาพจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และประชาชนจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ ดังนั้น หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังทุกระดับ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับประเทศ (2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงการดูแล การป้องกัน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุและกลุ่มผู้สูงอายุ ก็จะช่วยทำให้ประชากรสูงอายุมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงและยังคงเป็นกำลังที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ คือ ปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุเอง เนื่องจากผู้สูงอายุมีแนวโน้มของปัญหาทางสุขภาพอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงของมวลกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย เริ่มมีอาการบาดเจ็บและเสื่อมลงตามกาลเวลา อีกทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ผ่านมาในช่วงวัยทำงานส่งผลสู่ปัญหาทางสุขภาพของผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย ซึ่งพบว่า ประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 ป่วยเป็นโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases; NCDs) อันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เบาหวาน และเข่าเสื่อม โดยมีประชากรสูงอายุเพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว (3) ดังนั้น การมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีที่มีความสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมทางกายระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ และเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนัก 150 นาทีต่อสัปดาห์ และควรมีกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงมีกิจกรรมทางกายที่ช่วยเพิ่มความสมดุลของร่างกายและป้องกันการหกล้มอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ (4) การมีกิจกรรมทางกายเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยหรือบรรเทาความเจ็บป่วยจากการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs รวมถึงจะช่วยลดปัญหาของมวลกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่าง ๆ กับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายและการเข้าถึงการสนับสนุนของผู้สูงอายุไทย

เมื่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งผู้สูงอายุต้องให้ความสำคัญและจำเป็นต้องเสริมสร้างการมีกิจกรรมทางกายแก่ตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความแข็งแรง ลดการเจ็บป่วย ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี และเป็นประชากรที่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าและมีคุณภาพต่อตนเองและสังคมต่อไปได้ ขณะเดียวกันหากพิจารณาการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย พบว่าระดับการมีกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุไทยในช่วงปี 2555-2562  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2562 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอสูงที่สุดถึงร้อยละ 73.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า แนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอของผู้สูงอายุไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.8 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยที่ ร้อยละ 1.9 ต่อปี (5) ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังพบข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ ระดับของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้สูงอายุระหว่างเพศหญิงและเพศชายมีระดับของความแตกต่างน้อยลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2555 ความแตกต่างของระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอระหว่างเพศหญิงและเพศชาย อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ในขณะที่ปี 2562 ความแตกต่างลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.3 นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุเพศหญิงเริ่มให้ความสำคัญและมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอใกล้เคียงกับผู้สูงอายุเพศชายมากขึ้นในทุก ๆ ปี

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น นอกจากการตระหนักรู้ การให้ความสำคัญ และการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้สูงอายุที่ช่วยทำให้สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นแล้ว การส่งเสริมด้านนโยบายเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนานาประเทศก็ได้ให้ความสำคัญและลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายกับประชากรทุกช่วงวัยอย่างแพร่หลาย ตามข้อแนะนำของ The International Society for Physical Activity and Health หรือ “ISPAH” ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกาย 8 ประการ ให้ทุกประเทศสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางด้านนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ได้แก่ 1) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (Whole-of-School Programmers) 2) การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) 3) การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) 4) การบริการสุขภาพ (Healthcare) 5) การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) 6) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) 7) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (Work Places) และ 8) ส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-wide Programmes) (6) โดยภาครัฐ องค์กร หน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปดำเนินงานด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายดังกล่าวจะช่วยทำให้ประชากรสูงอายุมีโอกาสเข้าถึงและช่วยยกระดับของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรง เจ็บป่วยน้อยลงและมีสุขภาพที่ดีเพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หากพิจารณาเกี่ยวกับการเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรสูงอายุในประเทศไทย ที่มีความสอดคล้องกับสมรรถภาพร่างกายและบริบททางสังคมไทยที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้นั้น พบว่า ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกายตามข้อแนะนำของ ISPAH อยู่ 5 ประการ ได้แก่ 1) การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) 2) การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) 3) การบริการสุขภาพ (Healthcare) 4) การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) และ 5) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) โดยมีรายละเอียดดังนี้ (7)

1) การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) ชุมชนทำการออกแบบเส้นทางเพื่อสนับสนุนการเดินเท้าและการใช้จักรยานเพื่อส่งเสริมการเดินสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน ซึ่งการเข้าถึงการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน พบว่า ร้อยละ 59.3 ของผู้สูงอายุที่อยู่ในบริเวณชุมชนหรือละแวกบ้านพักอาศัยมีเส้นทางเดินหรือปั่นจักรยานเพื่อการสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 65.2 ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บริเวณชุมชนหรือละแวกบ้านพักอาศัยไม่มีเส้นทางเดินหรือปั่นจักรยานเพื่อการสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 49.1 (มากกว่าร้อยละ 16.1)

 2) การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) ชุมชนหรือเมืองส่วนใหญ่จะออกแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เป็นสวนสาธารณะ สนามกีฬา ลานออกกำลังกายกลางแจ้งและสนามเด็กเล่นตามลำดับ ซึ่งพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บริเวณชุมชนหรือละแวกบ้าน/ที่พักอาศัยมีพื้นที่ที่ออกแบบให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 61.4 ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บริเวณชุมชนหรือละแวกบ้าน/ที่พักอาศัยไม่มีพื้นที่ที่ออกแบบให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 52.6 (มากกว่าร้อยละ 8.8) ซึ่งบริเวณชุมชนหรือละแวกบ้านที่ผู้สูงอายุออกไปมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ มากที่สุด คือ  สวนสาธารณะ พื้นที่สนามกีฬา ลานติดตั้งเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง และสนามเด็กเล่น

3) การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรณรงค์ การให้ความรู้ทางสุขภาพรวมถึงด้านกิจกรรมทางกายจากช่องทางการเรียนรู้หรือช่องทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพและด้านกิจกรรมทางกาย มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 70.0 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารและไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพและด้านกิจกรรมทางกาย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 50.3 (มากกว่าร้อยละ 19.7) โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพและด้านกิจกรรมทางกาย ผ่านทางโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ตามลำดับ

4) การบริการสุขภาพ (Healthcare) การได้รับบริการทางสุขภาพโดยมีการให้ความรู้ ข้อแนะนำและทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายจากสถานบริการทางสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้สูงอายุที่เข้าถึงความรู้ ข้อแนะนำและทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายจากสถานบริการทางสุขภาพ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 60.3 ขณะที่ผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงความรู้ข้อแนะนำและทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายจากสถานบริการทางสุขภาพ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 55.7  (มากกว่าร้อยละ 4.6)

5) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) ชุมชนที่มีการจัดกิจกรรมการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา ตลอดจนมีการเตรียมสนามกีฬาและพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาในชุมชน จัดกิจกรรมรณรงค์ให้มีการใช้จักรยาน จัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ในชุมชน พบว่า ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 62.3 ในขณะที่ชุมชนที่ไม่มีการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการต่าง ๆ ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 53.4 (มากกว่าร้อยละ 8.9)

จากข้อมูลการเข้าถึงด้านนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เมื่อผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการส่งเสริมและได้รับการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย จะเห็นได้ว่าระดับของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับและไม่ได้เข้าถึงด้านนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชนของผู้สูงอายุ ที่ส่งผลทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายมากกว่าถึง ร้อยละ 19.7 รองลงมาคือการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน มากกว่าร้อยละ 16.1 การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน มากกว่าร้อยละ 8.9 การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง มากกว่าร้อยละ 8.8 และการบริการสุขภาพ มากกว่าร้อยละ 4.6 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของระดับการมีกิจกรรมทางกายระหว่างการเข้าถึงและการใช้การบริการกับการเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับบริการอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น สามารถยืนยันได้ว่าการลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกมิติ ล้วนมีความจำเป็นและความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้สูงอายุ เพื่อทำให้ประชากรสูงอายุมีสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยต่อไป ทั้งนี้ การลงทุนนโยบายที่เกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลข่าวสารและการรณรงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพและกิจกรรมทางกายผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ นั้นถือได้ว่ายังคงมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีความคุ้มค่ามากที่สุด แต่ช่องทางการสื่อสารที่ตรงต่อบริบทสังคมสูงอายุมากที่สุดก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสื่อโทรทัศน์ วิทยุเป็นหลัก นอกจากนี้ศูนย์บริการสุขภาพระดับชุมชนก็เป็นช่องทางที่ช่วยสื่อสารข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย

ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อการลงทุนการส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุไทย

ข้อมูลการเข้าถึงการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ 5 ประการ ตามข้อแนะนำ 8 ประการของ ISPAH มีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันในการเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ ตลอดจนข้อมูลเชิงเปรียบเทียบที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของการมีกิจกรรมทางกายระหว่างผู้สูงอายุที่เข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่ดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กร หน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปประกอบในการตัดสินใจเลือกนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับสังคมสูงอายุยิ่งขึ้น
 

โดยข้อมูลชี้ให้เห็นได้ว่าการเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงขอนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายสำหรับสังคมสูงอายุไทย โดยเรียงตามลำดับจากการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีความคุ้มค่า ได้ดังนี้

1. สนับสนุนและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) ส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย รวมไปถึงการส่งเสริมผ่านข้อมูลข่าวสารกิจกรรมทางกายและสุขภาพต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และสื่อต่าง ๆ ตลอดจนคำแนะนำทางด้านสุขภาพและด้านกิจกรรมทางกายจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ ความเชื่อ ทัศนคติและความตั้งใจ เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับผู้สูงอายุ และเพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุในสังคมไทย

2. สนับสนุนและส่งเสริมการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) การสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงในการเดินทาง โดยการปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปลอดภัย และดึงดูดการใช้งานอย่างเหมาะสม เช่น การวางผังเมือง การปรับทางเดินเท้า ทางจักรยาน และทางที่นำไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ ที่เข้าถึงได้ง่าย เชื่อมต่อกัน และรองรับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มอัตราการเดิน การปั่นจักรยาน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นการลดปัญหามลพิษได้ไปในตัวร่วมด้วย

3. สนับสนุนและส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) ส่งเสริมให้มีการดำเนินการจัดกีฬาและนันทนาการเพื่อมวลชน การสื่อสารมวลชนที่เน้นถึงประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ผลักดันให้กีฬาและนันทนาการเกิดเป็นบรรทัดฐานของสังคม เน้นให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบกิจกรรมหรือสร้างสรรค์พื้นที่ที่เอื้อประโยชน์และเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมกีฬาและนันทนาการให้เหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย

4. สนับสนุนและส่งเสริมการออกแบบเมืองหรือชุมชนให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) ส่งเสริมการออกแบบและโครงสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ตอบสนองต่อการมีกิจกรรมทางกาย รูปแบบ Compact city ให้สามารถเชื่อมต่อกัน และเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงเรียน สถานบริการ สวนสาธารณะ อุปกรณ์นันทนาการ และมีถนนที่เชื่อมต่อกันในแต่ละสถานที่ เพื่อให้ผู้สูงอายุสะดวกต่อการเดินสัญจรและปั่นจักรยานไปยังจุดหมายหรือเอื้อให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ส่งเสริมให้มีชุดปฐมพยาบาลและเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator, AED) ประจำพื้นที่ที่ออกแบบให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ

5. สนับสนุนและส่งเสริมด้านการบริการสุขภาพ (Healthcare) สนับสนุนนโยบายและระบบผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพให้มีความรู้และเกิดทักษะ สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องกับผู้สูงอายุ และเป็นส่วนหนึ่งของ Routine Care ที่มีศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้ากับระบบบริการสุขภาพระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยที่มารับบริการหรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีการเคลื่อนไหวน้อยในทุกระดับ

 


อ้างอิง

1. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.). (2564). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

2. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 65 จาก [https://shorturl.asia/jCTHd]

3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

4. ปิยวัฒน์ เกตุวงศาและคณะ. (2563). คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 1. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

5. ยุทธศาสตร์กรมกิจการผู้สูงอายุ 20 ปี ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2580. (2561). กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

6. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (ทีแพค) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

6. Milton K, Cavill N, Chalkley A, Foster C, Gomersall S, Hagstromer M, Kelly P, Kolbe-Alexander T, Mair J, McLaughlin M, Nobles J, Reece L, Shilton T, Smith BJ, Schipperijn J. Eight Investments That Work for Physical Activity. J Phys Act Health. 2021 May 14;18(6):625-630. doi: 10.1123/jpah.2021-0112. PMID: 33984836

7. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และกรกนก พงษ์ประดิษฐ์. (2563). REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม: บริษัท ภาพพิมพ์. Available from: https://tpak.or.th/?p=3984

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย