15 พฤษภาคม 2563

ปัญญา ชูเลิศ

ชีวิตวิถีใหม่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง: ในวันที่ต้องรับบทบาท “ครูเฉพาะกิจ”

20 วันให้หลังจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้โรงเรียนทั่วประเทศเลื่อนเปิดเรียนออกไป จากกำหนดเปิดเรียนเดิมในวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยในระหว่างที่มีการขยายเวลาการเปิดเรียนนี้ ให้นักเรียนใช้ระบบการเรียนผ่านระบบออนไลน์และ DLTV หรือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม รวมถึงแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองที่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กนักเรียน

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศขณะนี้ ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนหนังสือจากที่บ้าน อย่างน้อยก็ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ รวมเวลาประมาณ 45 วันที่เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านโดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองทำหน้าที่ดูแล หรือเป็นครูเฉพาะกิจ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานตนเอง หากมองแบบเร็ว ๆ อาจจะคิดว่าเด็ก ๆ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการขยายเวลาการเปิดเทอมนี้ ทว่าในมุมกลับ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองเอง ก็จะต้องมีการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เพราะเรื่องการทำหน้าที่ “ครู” อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคน คำถามคือ พ่อแม่ผู้ปกครองไทย มีความพร้อมกับการรับมือในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด…

 

ความกังวลใจของพ่อแม่ผู้ปกครองไทย ในวันที่โรงเรียนยังไม่เปิดเทอม

หลังจากทราบข่าวเรื่องการขยายระยะเวลาการเปิดเทอมออกไป และมีแนวโน้มว่านักเรียนจะต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน เรื่องแรก ๆ ที่เราหลายคนนึกออกว่าคงจะเป็นอุปสรรคสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือโทรทัศน์ หรือไม่ก็อาจจะนึกถึงเรื่องของความครอบคลุมและความแรงของสัญญานอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างไกลออกไป ทว่าผลจากการสำรวจล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2563 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ในข้อคำถามเรื่อง “ความกังวลใจหรือความยากลำบากของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อการสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานตนเองในช่วงขยายเวลาการเปิดเทอม” พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 มีความกังวลใจหรือความยากลำบากจากการขยายเวลาเปิดเรียนในประเด็นที่หลากหลายมากกว่าเรื่องของอุปกรณ์ และจากตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นสัดส่วนที่สะท้อนถึงความไม่พร้อมของครอบครัวไทยต่อการทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้จากที่บ้านให้กับบุตรหลานที่บ้านในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปรกติเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี

          เมื่อเจาะลึกถึงรายละเอียดของความกังวลและความลำบากใจของพ่อแม่ผู้ปกครองไทยกว่าร้อยละ 90 ข้างต้น ผลการสำรวจชี้ว่า ความกังวลใจที่เกิดขึ้นในช่วงขยายเวลาการเปิดเทอมออกไปนี้ ครอบคลุมไปตั้งแต่เรื่องของการที่บุตรหลานจะเรียนรู้ไม่เพียงพอ เนื่องด้วยไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับบุตรหลานได้ รวมไปถึงเรื่องของปัญหาด้านการจัดการเวลา ความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือการเรียนรู้ต่าง ๆ รองลงมาก็เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องการใช้หน้าจอเพื่อเล่นเกม หรือโทรศัพท์ของบุตรหลาน พฤติกรรมการ “ติดหน้าจอ” ของบุตรหลาน ที่ดูเหมือนว่าจะควบคุมได้ยากขึ้นทุกวัน เนื่องจากหลายครอบครัวไม่ได้ควบคุมและตั้งกฎกติกาการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาตั้งแต่ต้น หรือไม่มีเวลาในการดูแลบุตรหลานเพราะออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้น การจะดึงสิ่งเหล่านี้ออกจากมือเด็กเมื่อตอนที่เขาโตขึ้นแล้วจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก รวมไปถึงเรื่องการจัดการเวลาในการร่วมทำกิจกรรม หรือการมีกิจกรรมทางกายการเคลื่อนไหวทางกายของบุตรหลานในช่วงมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ของรัฐบาล การปล่อยให้บุตรหลานออกไปเล่นหรือไปทำกิจกรรมนอกบ้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้อย่างสะดวกนัก ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ไม่ทราบว่าควรจะเล่นกับลูกหลานที่บ้านอย่างไร การให้ลูกหลานใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอจึงเป็นทางออกที่หลายครอบครัวต้องจำใจเลือก เรื่องค่าใช้จ่าย ค่ากิน ค่าอยู่ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อบุตรหลานอยู่ที่บ้าน ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่เป็นความกังวลหลัก ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในใจของผู้ปกครองไทยทั่วประเทศ

 

“ความ(ไม่)พร้อม” บน “ความจำเป็น” ของครูเฉพาะกิจ

 จากข้อมูลที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า เกือบร้อยละ 60 ของพ่อแม่ผู้ปกครองไทยมีความกังวลว่า ในช่วงเวลาที่ขยายการเปิดเทอมออกไป และบุตรหลานต้องหยุดอยู่ที่บ้านในช่วงเวลาดังกล่าว เด็ก ๆ อาจจะไม่สามารถเรียนรู้เนื้อหาวิชาการเรียนต่าง ๆ อย่างเพียงพอ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “กลัวลูกหลานจะเรียนไม่ทัน” ส่วนหนึ่งก็เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า สามารถแบ่งเวลาจากการปฏิบัติหน้าที่ในวิถีชีวิตเพื่อมาทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานได้ประมาณวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ที่น่าเป็นห่วงคือ มีพ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 11.8 ที่ระบุว่าไม่สามารถจัดสรรเวลาให้กับบุตรหลานในการทำกิจกรรมดังล่าวได้เลย

เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสะดวกในการจัดการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานตนเอง พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ (ร้อยละ 43.9) มีเวลาว่างในช่วงเย็นหลังเลิกงานเป็นต้นไป โดยแบ่งเป็นช่วงเย็นหรือหลังเลิกงานร้อยละ 23.6 และช่วงหัวค่ำร้อยละ 20.3 (ซึ่งทั้งสองช่วงเวลานี้ สมองของเด็ก ๆ ก็ไม่ได้พร้อม หรือดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้) รองลงมาคือช่วงเช้าร้อยละ 16.5 ช่วงกลางวันและช่วงบ่ายร้อยละ 11.3 และมีพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีเวลาดูแลบุตรหลานได้ตลอดทั้งวัน

 

จากข้อค้นพบข้างต้น หากเด็ก ๆ จะต้องเรียนรู้อยู่ที่บ้านผ่านระบบออนไลน์หรือ DLTV จะมีเด็กเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยช่วยสนับสนุน หรือสอดส่องดูแลการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานที่บ้านในช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายของวัน หากพ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มนี้ไม่มีการจัดการที่ดี หรือตัวเด็ก ๆ เองไม่มีวินัยในการเรียนรู้ และสนใจการใช้สื่อออนไลน์เพื่อความสนุกสนานบันเทิงมากกว่า ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่เด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้เรียนรู้อย่างเพียงพอ ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ ด้วยวิถีชีวิตของผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลถึงความพร้อมในการร่วมทำกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้จากที่บ้านของบุตรหลานโดยตรง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          เกษตรกร

          พ่อแม่ผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนใหญ่จะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานของตนเองได้ประมาณวันละ 4 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาที่สะดวกมากที่สุดในการจัดการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานคือ ช่วงเช้า (ร้อยละ 24.4) และช่วงหัวค่ำ (ร้อยละ 24.4) โดยช่วงเวลาที่สะดวกน้อยที่สุดคือ ช่วงบ่าย (ร้อยละ 8.9)

          กิจการส่วนตัว/ค้าขาย

          สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพค้าขายหรือมีกิจการส่วนตัว ส่วนใหญ่จะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานของตนเองได้ประมาณวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยช่วงเวลาที่สะดวกมากที่สุดในการจัดการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานคือ ช่วงหัวค่ำ (ร้อยละ 24.5) และช่วงเช้า (ร้อยละ 22.3) โดยช่วงเวลาที่สะดวกน้อยที่สุดคือ ช่วงกลางวัน (ร้อยละ 11.7)

          ราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริษัท/โรงงาน

          ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทำงานประจำในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัท หรือโรงงาน ส่วนใหญ่จะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานของตนเองได้ประมาณวันละ 2 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาที่สะดวกมากที่สุดในการจัดการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานคือ ช่วงเย็น/หลังเลิกงาน (ร้อยละ 39.8) และช่วงหัวค่ำ (ร้อยละ 28.8) โดยช่วงเวลาที่สะดวกน้อยที่สุดคือ ช่วงบ่าย (ร้อยละ 5.1)

          รับจ้างทั่วไป

          และพ่อแม่ผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่จะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานของตนเองได้ประมาณวันละ 2 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาที่สะดวกมากที่สุดในการจัดการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานคือ ช่วงเย็น/หลังเลิกงาน (ร้อยละ 25.5) และช่วงหัวค่ำ (ร้อยละ 15.5) โดยช่วงเวลาที่สะดวกน้อยที่สุดคือ ช่วงเช้า (ร้อยละ 13.0)

 

เตรียมพร้อมสู่ “ชีวิตวิถีใหม่” ของพ่อแม่ผู้ปกครองไทย

หนึ่งในวิถีใหม่ (New Normal) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับคนที่มีบทบาทเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง คือการรับหน้าที่ “ครูเฉพาะกิจ” ในยามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รวมไปถึงในวันที่รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมมีการปรับเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวโดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้จากสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ มาเป็นบทเรียนก็น่าจะช่วยให้การทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

โดยแต่ละฝ่ายอาจมีแนวทางในการปฏิบัติดังต่อไปนี้

ฝ่ายที่ 1: ภาครัฐและหน่วยงานทางด้านการศึกษา

ควรเตรียมความพร้อมในส่วนของระบบสนับสนุนการบริหารจัดการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับประเทศ เนื่องจากผลการสำรวจชี้ชัดว่า ความพร้อมของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้าน ยังคงมีข้อติดขัดและอุปสรรคอยู่หลายประการ การมองถึงปัญหาให้ทะลุและตรงจุด จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อการเตรียมความพร้อม โดยให้ความสำคัญไปที่มิติหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. การเสริมสร้างทักษะของผู้ปกครองเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้าน

2. การจัดเตรียมเครื่องมือการเรียนรู้ ชุดความรู้ และสื่อสำหรับการเรียนรู้ สำหรับผู้ปกครอง

3. การเตรียมความพร้อมระบบการบริหารจัดการ และบุคลากรทางการศึกษา

4. การขยายความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์


ฝ่ายที่ 2: สถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา

ควรเตรียมความพร้อมในการจัดทำเครื่องมือการเรียนรู้ ชุดความรู้ และสื่อสำหรับการเรียนรู้ สำหรับผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับบุตรหลานจากที่บ้าน ทั้งที่เป็นใบงาน หรือเนื้อหาทางวิชาการ รวมถึงตัวอย่างกิจกรรมที่ผู้ปกครองสามารถนำไปทำตามได้ง่ายและเหมาะสมตามบริบทของไทย โดยอาจจะใช้การเล่นเป็นสิ่งกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น วิ่งเล่นไปพร้อมกับการฝึกคิดเลข ทำกายบริหารไปพร้อมกับการท่องคำศัพท์ กระโดดแข่งกันเขียนหรือท่องสูตรคูณ ฝึกการทรงตัวไปพร้อมกับการอ่านหนังสือหรือคิดเลขในใจ เป็นต้น โดยทำเป็นคลิปกิจกรรมสั้นๆ ประมาณ 3-5 นาที ทั้งนี้ตัวอย่างของกิจกรรมการเรียนรู้สามารถดูตัวอย่างจากคลังกิจกรรม “เล่น เรียน รู้” ของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK)

 

ฝ่ายที่ 3: ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง

บทบาทของการส่งเสริมการเรียนรู้ของบุตรหลาน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคุณครูเท่านั้น แต่พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องแสดงบทบาทในส่วนนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เกิดการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตสู่วิถีใหม่ ดังนั้นเพื่อช่วยให้บุตรหลานได้มีการเรียนรู้ที่เพียงพอ การติดตามข่าวสารและติดต่อสื่อสารกับโรงเรียนของบุตรหลานอย่างใกล้ชิดจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองทราบถึงแนวทาง และวิธีการสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานของตนเอง ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อยู่ รวมถึงแต่ละโรงเรียนต่างก็ได้เตรียมแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและความพร้อมของนักเรียนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจัดเตรียมความพร้อมในสิ่งเหล่านี้

1) จัดตารางการเรียนรู้และการทำกิจกรรมในแต่ละวันร่วมกับบุตรหลานให้เหมาะสมตามช่วงวัย โดยจัดสรรตารางกิจกรรมประจำวันให้สมดุลตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ช่วงเช้า กลางวัน เย็น โดยเฉพาะในกิจกรรมหลัก เช่น เวลานอน กิน เรียน เล่น พักผ่อน หรือกิจกรรมอื่น ๆ และไม่ควรปล่อยให้ลูกหลานอยู่บ้านเฉย ๆ เหมือนกับว่าเป็นวันหยุด

2) กระตุ้นให้บุตรหลานมีกิจกรรมทางกาย/เล่น/ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าเด็ก ๆ อายุ 5-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักสะสมให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เนื่องจากกิจกรรมทางกายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เด็กได้เจริญเติบโตอย่างสมวัย และยังช่วยเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ทั้งการคิดวิเคราะห์ การจัดการอารมณ์ การเข้าสังคม การสื่อสาร หรือแม้กระทั่งความรู้ด้านวิชาการ

3) จัดพื้นที่การเรียนรู้ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียน ทั้งนี้หากมีความจำกัดของพื้นที่ อาจจัดเป็นมุมเล็ก ๆ ให้บุตรหลานมีพื้นที่ที่มีสมาธิเพียงพอสำหรับทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือ

4) ควบคุมเวลาการใช้หน้าจอและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความบันเทิงของบุตรหลาน ไม่ให้เกินความจำเป็น โดยพิจารณาตามหลักการต่อไปนี้


 

ที่มา:

การสำรวจพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของประชากรไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์นี้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 599 คน แบ่งเป็นเพศชาย 310 คน (ร้อยละ 51.8) และเพศหญิง 289 คน (ร้อยละ 48.2) โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 74.6 มีอายุระหว่าง 25 – 59 ปี

ผู้เขียน
ปัญญา ชูเลิศ

ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่