13 มีนาคม 2564

ดร. วริศ วงศ์พิพิธ

บทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการส่งเสริมสุขภาพด้านเมตาบอลิซึม

14 พฤศจิกายน 2565 
โดยอาจารย์ ดร. วริศ วงศ์พิพิธ
(อาจารย์ประจำสาขาสุขศึกษาและพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


ช่วยเล่าประวัติของอาจารย์โดยสังเขป

อาจารย์ ดร. วริศ วงศ์พิพิธ จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ในระดับปริญญาตรี และ University of Glasgow ในระดับปริญญาโท และ The Chinese University of Hong Kong ในระดับปริญญาเอกครับ ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจด้านวิจัยเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และสุขภาพของเมตาบอลิซึม

ที่มาและความสำคัญของการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านเมตาบอลิซึมเป็นอย่างไร?

โดยปกติมนุษย์จะมี 3 พฤติกรรมหลัก ๆ คือ การนอน กิจกรรมทางกาย และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ใหญ่จะมีระยะเวลาการนอนประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 1/3 ของ 24 ชั่วโมง และมีกิจกรรมทางกายที่ความหนักระดับปานกลางถึงสูงอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน และเวลาส่วนมากของคนจะมีกิจกรรมทางกายอยู่ที่ความหนักระดับเบาและพฤติกรรมเนือยนิ่ง [1] ในอดีตเราจะศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายว่าดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรต่อสุขภาพ ทว่ากิจกรรมทางกายต่อวันนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของระยะเวลาทั้งหมดต่อวัน ดังนั้นนักวิจัยจึงให้ความสนใจกับพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เป็นพฤติกรรมที่ใช้เวลาที่มากที่สุดแทน มากไปกว่านั้นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน เป็นโรคเกี่ยวกับทางเมตาบอลิซึม และความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด บางครั้งก็มีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึมของร่างกาย เมื่อผนวกพฤติกรรมเนือยนิ่งกับเมตาบอลิซึมแล้ว จึงทำให้เกิดงานวิจัยด้านนี้ขึ้นมา และมีงานวิจัยมากมายทั้งกระบวนการวิจัยแบบภาคตัดขวาง และการทดลองที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียจากพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การนั่งนาน ๆ ไม่ดีต่อสุขภาพ ส่วนการที่ขัดพฤติกรรมเนือยนิ่งบ่อยครั้งจะทำให้สามารถลดกลูโคส (น้ำตาลในเลือด) ฮอร์โมนอินซูลิน และไขมันในเลือดได้ ดังนั้นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งเพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านเมตาบอลิซึมจึงมีความสำคัญ

สถานการณ์ความเสี่ยง และปัญหาของการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง ในภาพรวมของโลก และในเด็ก และเยาวชนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ประชาชนทั่วโลกนั้นมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ค่อนข้างมาก ซึ่งการเนือยนิ่งนั้นเกิดขึ้นทั้งในบุคคลที่มีกิจกรรมทางกายที่สูงและบุคคลที่มีกิจกรรมทางกายที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประชากรนั้นมีกิจกรรมทางกายต่ำลงและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่สูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ความเสี่ยงในเด็กและเยาวชนไทย จากการศึกษาของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) นั้นก็แสดงให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมเนือยนิ่งประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน [2] ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ แต่การศึกษาอาจจะยังไม่เพียงพอว่าเด็กและเยาวชนไทยส่วนมากมีรูปแบบพฤติกรรมเนือยนิ่งอย่างไร

สถานการณ์ในช่วงนี้มีปัญหาเรื่องการไปโรงเรียนของเด็ก การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง และการมีกิจกรรมทางกายของเด็กลดลง ทั้งตอนอยู่บ้านและโรงเรียน ในมุมมองของท่านมีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องเร่งดำเนินการ?

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะกิจกรรมทางกายนั้นเป็นสิ่งสำคัญในด้านพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งผู้ปกครองและโรงเรียนต้องเห็นความสำคัญของการเพิ่มกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในเด็กและเยาวชน แต่ทว่าผู้ปกครองและโรงเรียนส่วนมากละเลย/ขาดการให้ความสำคัญในส่วนนี้ และสนใจแต่ทางด้านวิชาการเป็นหลัก ซึ่งแท้จริงแล้วการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่น้อย จะช่วยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาการของเด็กและเยาวชนด้วย ซึ่งประเด็นที่ผมคิดว่าควรเร่งให้ดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน คือการปรับเปลี่ยนแนวความคิดของผู้ปกครองที่บ้าน ชุมชน และโรงเรียนให้เห็นว่ากิจกรรมทางกายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเลย เพราะจะส่งผลต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนได้ และไม่ควรละเลยความสำคัญของรายวิชาพลศึกษา ที่จะส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีกิจกรรมทางกายได้อย่างเหมาะสมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

แนวทางในการป้องกันปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง กิจกรรมทางกายลดลง ให้กับหน่วยงาน/ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการนำไปปฏิบัติ ควรทำอย่างไร

ควรมีการส่งเสริมการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและเพิ่มกิจกรรมทางกาย ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย มีความสะดวกในการมีกิจกรรมทางกายมากยิ่งขึ้น มีการจัดห้องอาบน้ำในสถานที่ทำงานหรือโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมการให้ความรู้และส่งเสริมกิจกรรมทางกาย อาจจะมีการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับพฤติกรรมสำหรับเตือนว่าห้ามนั่งต่อเนื่องนานกว่า 30 นาที และเตือนให้ลุกไปเดินเข้าห้องน้ำ นอกจากนั้น ในส่วนของโรงเรียน สามารถใช้แนวทางการสร้างทางเดินที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน มีการจัดโปรแกรมทางสุขภาพ การออกกำลังกายตลอดทั้งช่วงวัน และขณะพัก ทั้งตอนเช้าก่อนเข้าแถว ขณะพักเบรค พักเที่ยง และหลังเลิกเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสในการเข้าร่วมและรู้จักกิจกรรมทางกายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมวิชาพลศึกษาที่มีการสอนเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายให้เด็กได้มีกิจกรรมทางกายที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งครูพลศึกษาควรมีความรู้ว่าพลศึกษาที่มีคุณภาพควรเป็นอย่างไร ไม่เพียงแต่เน้นการสอนกีฬาเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุทำให้นักเรียนบางคนอาจจะไม่ชอบวิชาพลศึกษาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ววิชาพลศึกษาที่มีคุณภาพมีเนื้อหามากกว่ากีฬา

 


อ้างอิง

1. Waris Wongpipit. พฤติกรรมการเคลื่อนไหวและการไม่เคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง. The Sedentary Behaviour Research Network (SBRN). https://www.sedentarybehaviour.org/sbrn-terminology-consensus-project/thai-translation/

2. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และกรกนก พงษ์ประดิษฐ์. (2563). REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม: บริษัท ภาพพิมพ์. Available from: https://tpak.or.th/?p=3984

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย