20 มีนาคม 2566

กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม

6840

บทวิเคราะห์: สถานการณ์กิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565 และแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี 2566

ในช่วงปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มลดลง และผู้คนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น หลายประเทศสามารถรับมือจนทำให้ประชาชนสามารถออกมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ด้วยการส่งเสริมมาตรการในการป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวร่วมกันและดำเนินชีวิตในแบบวิถีปกติใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมด้านการมีกิจกรรมทางกายของผู้คน ซึ่งสถานการณ์ด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ที่ผ่านมาพบว่า ปี 2563 ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียง ร้อยละ 54.3 และในปี 2564 ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 63.0 (1) เนื่องจากภาคีเครือข่ายทราบถึงสถานการณ์และแนวโน้มของการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ทำให้สามารถมีทิศทางการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างเหมาะสมและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่งผลให้ระดับกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพขยับเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจ

 

ทิศทางและแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย ปี 2565

หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2564 ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ดำเนินการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565 พบว่า สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในภาพรวม ลดลงจากเดิมเล็กน้อย จากร้อยละ 63.0 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 62.0 (2)

แม้สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2565 จะมีแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 ที่ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 63.0 ซึ่งในปี 2565 ลดลงเป็นร้อยละ 62.0 ชี้ให้เห็นได้ว่า ปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม อันได้แก่ ด้านเพศ ช่วงวัย ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ ยังคงมีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในภาพรวม สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมของการมีกิจกรรมทางกายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง (1) (2) (3) ที่ทุกภาคส่วนยังคงต้องให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสการมีกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ไม่มีอาชีพ ผู้ไม่ได้เรียนหรือเรียนน้อย เหล่านี้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

และจากการสำรวจข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายตามกลุ่มวัย พบว่า กลุ่มวัยผู้ใหญ่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 65.8 วัยสูงอายุ ร้อยละ 60.6 ในขณะที่กลุ่มวัยเด็กและเยาวชนลดลงค่อนข้างมาก จากร้อยละ 24.2 ในปี 2564 เหลือเพียงร้อยละ 16.1 เท่านั้น (2) ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่า 11 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมในกลุ่มของเด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วน

 

โอกาสและการเข้าถึงพื้นที่และบริการทางสุขภาพคือปัจจัยของการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย

จากการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565 พบว่ายังมีปัจจัยการใช้พื้นที่และการได้รับบริการทางสุขภาพของประชากรไทย อาทิ การได้รับข้อมูลและคำแนะนำการมีกิจกรรมทางกาย การเข้าถึงและการใช้บริการ กิจกรรม พื้นที่ สถานที่หรืออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย เล่นกีฬา เคลื่อนไหวร่างกายและนันทนาการของชุมชนหรือที่ทำงาน เป็นต้น ที่เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดพื้นที่และการได้รับบริการทางสุขภาพของประชากรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางการลงทุนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการของ ISPAH ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับโลก Global Action Plan on Physical Activity ขององค์การอนามัยโลก (WHO) (4) จึงทำให้สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฟื้นกลับมาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับพบว่าการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยยังไม่สามารถฟื้นคืนใกล้เคียงปี 2562 ที่ร้อยละ 74.6 ได้ ทว่ากลับยังพบว่า กิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย ปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ของโควิด-19 มีการแพร่ระบาดน้อยลงก็ตาม

ซึ่งผลการศึกษาสถานการณ์การใช้พื้นที่และการได้รับบริการทางสุขภาพของประชากรไทย ชี้ให้เห็นได้ว่า ประชากรไทยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พื้นที่และการได้รับบริการทางสุขภาพน้อยลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนด้านการบริการสุขภาพ (Healthcare) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (Whole-of-school Programmes) ที่มีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างอยู่ในห้องเรียน (2)

“มีโอกาสและเข้าถึงการสนับสนุนด้านการบริการสุขภาพ
(Healthcare) เพียงร้อยละ 36.8

“มีโอกาสเข้าถึงการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน
(Sports and Recreation for All) เพียงร้อยละ 37.8

“มีโอกาสเข้าถึงการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน
(Public Education, Including Mass Media) ร้อยละ 43.2

“มีโอกาสเข้าถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ
(Whole-of-school Programmes) ร้อยละ 56.7

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากการเฝ้าระวังการติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565 ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยที่ลดลง นอกจากปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคมที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอแล้ว ยังรวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงพื้นที่และการได้รับบริการทางสุขภาพ ที่ยังคงไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึงประชากรไทยทุกกลุ่ม จึงส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ตลอดจนการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy) ที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินงานและสนับสนุนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

แนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายกับเด็กและเยาวชน (5)

การส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical Literacy) ในเด็กและเยาวชนมีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากเป็นพื้นฐานที่ช่วยปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลสุขภาพกายที่ถูกต้องและเหมาะสมในระยะยาว ประกอบด้วย

1) ส่งเสริมด้านความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะและเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ ให้ร่างกายเกิดการพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวที่มีระดับหนักมากขึ้นและมีระยะเวลาที่นานเพิ่มขึ้น หากร่างกายมีสมรรถนะที่ดีจะช่วยให้สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายต่าง ๆ มากขึ้น

2) การส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจและความมั่นใจ (Motivation and confidence) ส่งเสริมให้เกิดความสนุก มีความสุข เพลิดเพลิน และเกิดความมั่นใจในตนเองสำหรับการเคลื่อนไหวร่างกายและการมีกิจกรรมทางกาย

3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) ให้เกิดความรับผิดชอบระดับบุคคลที่มีต่อการเลือกรูปแบบการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับตนเองและวิถีชีวิตตนเอง ให้สามารถจัดลำดับความสำคัญและมีวินัยในการร่วมเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมทางกายรูปแบบต่าง ๆ ที่ตนเองต้องการ

4) ส่งเสริมด้านความรู้และความเข้าใจ (Knowledge and understanding) ให้สามารถมีความรู้ความเข้าใจของการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงมีความเข้าใจประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายต่อการมีสุขภาพที่ดี และมีความรู้ความเข้าใจถึงความปลอดภัยในการออกกำลังกายกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

 

แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ทุกกลุ่มวัย (4)

โดยมาตรการและนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ทุกกลุ่มวัย เพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ประกอบด้วย

1) สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (Whole-of-school Programmes) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนกับกิจกรรมทางกายของเด็กในโรงเรียนในช่วงพัก หลังเลิกเรียน ช่วงปิดเทอม รวมไปถึงการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างอยู่ในห้องเรียน โดยสามารถกำหนดนโยบายที่สามารถทำได้โดยง่าย ให้ครูเป็นผู้นำหรือเป็นต้นแบบของนักเรียน และนักเรียนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม ในการช่วยกันให้เกิดกิจกรรมทางกาย

2) สนับสนุนและส่งเสริมด้านการบริการสุขภาพ (Healthcare) สนับสนุนนโยบายและระบบผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพให้มีความรู้และเกิดทักษะ สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้อง และส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้ากับระบบบริการสุขภาพระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการหรือกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวน้อย

3) สนับสนุนและส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) ส่งเสริมให้มีการดำเนินการจัดกีฬาและนันทนาการเพื่อมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน เน้นให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบกิจกรรมหรือสร้างสรรค์พื้นที่ที่เอื้อประโยชน์และเข้าถึงได้ง่าย

4) สนับสนุนและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) ส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย รวมไปถึงการส่งเสริมผ่านข้อมูลข่าวสารกิจกรรมทางกายและสุขภาพต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ ความเชื่อ ทัศนคติและความตั้งใจ เพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรทุกเพศทุกวัยในสังคม

5) สนับสนุนและส่งเสริมการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active travel / Transport) การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงในการเดินทาง โดยการปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้เหมาะสมและดึงดูดในการใช้งาน เช่น การวางผังเมือง การปรับทางเดินเท้า ทางจักรยาน และทางที่นำไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ ที่เข้าถึงได้ง่าย เชื่อมต่อกัน เพื่อเพิ่มอัตราการเดิน การปั่นจักรยาน

6) สนับสนุนและส่งเสริมการออกแบบเมืองหรือชุมชนให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) ส่งเสริมการออกแบบและโครงสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ตอบสนองต่อการมีกิจกรรมทางกาย รูปแบบ Compact city ให้สามารถเชื่อมต่อกัน และเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่าย มีถนนที่เชื่อมต่อกันในแต่ละสถานที่ เพื่อให้ผู้คนสะดวกต่อการเดินสัญจรและปั่นจักรยานไปยังจุดหมายหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกที่ทุกเวลา

7) สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-wide Programmes) สนับสนุนการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงาน องค์กร ทั้งระดับชุมชนหรือท้องถิ่น ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งองค์กรด้านกีฬา เพื่อร่วมมือดำเนินงานอย่างเป็นองค์รวมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแคมเปญรณรงค์ การจัดสภาพแวดล้อม ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายแก่ผู้คนในชุมชน

8) สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (Workplaces) ส่งเสริมให้หน่วยงานมีโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ สร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของกิจกรรมทางกายและผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมด้านสุขภาพ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำหนดนโยบายขององค์กรและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูล สร้างพื้นที่ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของคนวัยทำงาน

 


อ้างอิง

1. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2565). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

3. World Health Organization. (2021). Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people. Retrieved from https://www.who.int/publications/i/item/WHO-HEP-HPR-RUN-2021.1

4. Milton K, Cavill N, Chalkley A, Foster C, Gomersall S, Hagstromer M, Kelly P, Kolbe-Alexander T, Mair J, McLaughlin M, Nobles J, Reece L, Shilton T, Smith BJ, Schipperijn J. Eight Investments That Work for Physical Activity. J Phys Act Health. 2021 May 14;18(6):625-630. doi: 10.1123/jpah.2021-0112. PMID: 33984836.

5. Australian Sports Commission. (2019). SPORT AUSTRALIA POSITION STATEMENT ON PHYSICAL LITERACY. Available from: https://www.sportaus.gov.au/physical_literacy

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย