20 พฤษภาคม 2567

กลุ่มงานสื่อสารผลผลิตทางความคิด

3391

เมื่อ PM2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่ คุณกล้าที่จะออกไปมีกิจกรรมทางกายหรือไม่?

 


เมื่อคุณกำลังเตรียมตัวจะไปออกกำลังกาย แต่ต้องพบเจอกับ
การแจ้งเตือนรายงานค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ที่ทำให้ต้องคิดหนัก

ข้อมูลแจ้งเตือนระดับมลพิษทางอากาศรายวันของสื่อช่องทางต่าง ๆ ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางไปออกกำลังกายในแต่ละวัน (Tainio et al., 2021) ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 และมลพิษทางอากาศเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง (Campbell-Lendrum & Prüss-Ustün, 2019) WHO ระบุว่า มลพิษทางอากาศถูกประกาศให้เป็น 1 ใน 5 ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรค NCDs (WHO, 2023)  

 

ฝุ่นพิษ: อันตรายอย่างไรบ้าง  

องค์ประกอบของมลพิษทางอากาศ เช่น มลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับการจราจรในแง่ของไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และฝุ่นละออง (PM) ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศโดยรอบ (PM10, PM2.5, Ultrafine particles (UFP)) (Endes et al., 2017) ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน เพราะต้องสัมผัสมลพิษทางอากาศเหล่านั้นผ่านการหายใจ รวมถึงผู้ที่ทำกิจกรรมนอกบ้านโดยเฉพาะคนที่รักสุขภาพ เนื่องจากองค์ประกอบมลพิษทางอากาศที่มีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่กระแสเลือด และอวัยวะภายในที่อาจก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบ และรบกวนภาวะเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดหัวใจ มลพิษทางอากาศส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ และนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าสามล้านคนต่อปีทั่วโลก เนื่องจากอัตราการระบายอากาศที่เพิ่มขึ้น การสูดดมอนุภาคที่เป็นอันตรายอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อคนมีกิจกรรมทางกายในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ (Zhang et al., 2022)

ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวได้มีการวางแผนการดำเนินงานที่ระบุไว้ในแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อตอบรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 11 สังคมสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 13 การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ด้วยนโยบายการผังเมืองและคมนาคม เพื่อให้เมืองและภูมิภาคต่าง ๆ ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเดินและปั่นจักรยาน ขนส่งสาธารณะ รวมถึงพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว และสถานที่นันทนาการ สำหรับทุกคน ลดการใช้เชื้อเพลิง ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในเมือง และเป้าหมายที่ 3 การสร้างเสริมวิถีชีวิตแบบสุขภาวะ เนื่องจากมีลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้มีกิจกรรมทางกายในการเดินทางและใช้ชีวิต เช่น การเข้าถึงการเดินและปั่นจักรยานที่ปลอดภัย การใช้ขนส่งสาธารณะ อันจะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุทางถนน และลดการใช้ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

 

โอกาสของประชาชนในการมีกิจกรรมทางกาย

โอกาสที่ประชาชนจะมีสุขภาพที่แข็งแรงภายใต้สถานการณ์นี้ หลายหน่วยงานต่างแนะนำให้งดทำกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย รวมถึงกิจกรรมอื่นนอกบ้าน เนื่องจาก ฝุ่น PM2.5 อาจเป็นตัวขัดขวางการมีกิจกรรมทางกาย รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของ PM2.5 โดยรอบหนึ่งหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในการศึกษาของสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์กับโอกาสที่จะไม่มีการเคลื่อนไหวทางร่างกายเพิ่มขึ้น 1.1% ในกลุ่มผู้ใหญ่ (Tainio et al., 2021)  อีกทั้งประชาชนจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 ที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ประชาชนจะต่อสู้กับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และเป็นโจทย์ที่ท้าทายในระดับประเทศในการยกระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย เนื่องจากประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามคำแนะนำของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในวัยผู้ใหญ่อายุ 18 – 64 ปี ควรทำกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 - 300 นาที หรือทำกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกระดับหนักอย่างน้อย 75 - 150 นาที หรือทำผสมผสานกัน โดยทำตลอดทั้งสัปดาห์เพื่อผลดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง (World Health, 2020)

ผลการสำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2566 พบว่า ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 68.1 โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 62.0 ​(ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2566) จากข้อมูลดังกล่าวถือเป็นเรื่องดีที่ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปี 2565 ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ในช่วง 10 - 35 มคก./ลบ.ม. (ค่าเฉลี่ย 20 มคก./ลบ.ม.) (กรมควบคุมมลพิษ, 2565) โดยมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ยรายปีจะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการระบุในภาพรวม ทั้งนี้หากต้องการดูสถานการณ์ฝุ่นแบบเรียลไทม์สามารถดูได้ที่แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ Air4Thai

หากประชาชนจะออกไปมีกิจกรรมทางกายบนสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน คำแนะนำในการมีกิจกรรมทางกายเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษ คือการมีกิจกรรมทางกายในอาคาร โดยในงานศึกษาวิจัยได้ระบุถึงคำแนะนำให้อยู่ในอาคาร หลีกเลี่ยงการเดินไปตามถนนที่มีมลพิษหรือการสวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศสูง โดยแสดงให้เห็นถึงความไม่เพียงพอในการตอบสนองของแต่ละบุคคลต่อปัญหาในวงกว้างและร้ายแรง (Campbell-Lendrum & Prüss-Ustün, 2019) ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ประชากรไทยได้รับเมื่อเกิดสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ขึ้น

 

ฝุ่นพิษมากน้อยเท่าไหร่ จึงถือว่าเสี่ยงต่อสุขภาพ

จากประกาศกรมควบคุมมลพิษในข้อควรปฏิบัติตามเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ระบุว่าเมื่อดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 201 ขึ้นไป กำหนดว่าค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าเกิน 75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพ งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง (ประกาศกรมควบคุมมลพิษ, 2566) ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 อยู่ที่ 100 มคก./ลบ.ม. จะมีอันตรายมากกว่าคุณประโยชน์หลังจากการปั่นจักรยาน 1 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน หรือการเดินมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน (Tainio et al., 2016) จึงอาจทำให้ใครหลายคนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางกายนอกบ้าน เพราะการที่จะเอาชีวิตออกไปเสี่ยงกับฝุ่น PM2.5 ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง มะเร็งปอด โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน รวมไปถึงเสี่ยงแท้ง/คลอดก่อนกำหนด กระทบต่อพัฒนาการ/ระบบสมองของทารก ทารกแรกคลอดผิดปกติ/น้ำหนักน้อย (กรมอนามัย, 2563)


ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2566)

จะดีกว่าหรือไม่ หากเราสามารถทำกิจกรรมทางกายนอกสถานที่อย่างการปั่นจักรยานและการเดินได้ โดยที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่จะต้องสัมผัสกับ PM2.5 แต่อย่างไรก็ตาม การมีกิจกรรมทางกายในบ้านจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการมีกิจกรรมทางกายที่ประชาชนจะลดโอกาสในการสัมผัสฝุ่น PM2.5 (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่.. https://bit.ly/3UgtXNx)

 

ตัวอย่างแนวทางจากการศึกษาในการแก้ไขและอยู่ร่วมกับปัญหา PM2.5

การวางผังเมือง : ผู้กำหนดนโยบายจึงต้องสนับสนุนการดำเนินการตามกลยุทธ์และการดำเนินการที่มุ่งลดมลพิษทางอากาศในเขตเมือง ในขณะเดียวกันการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ตามแนวคิด “เมืองอัจฉริยะ” ได้กลายเป็นช่องทางในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ในการวางผังเมือง การคมนาคมอัจฉริยะถือเป็นปัจจัยสำคัญ (smart city) เนื่องจากการปล่อยมลพิษส่วนใหญ่ในเมืองต่าง ๆ เป็นผลมาจากการจราจรจึงจำเป็นต้องมีการออกแบบการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมในเขตเมือง ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางโดยสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ และการแบ่งปันการเดินทาง เสนอมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปั่นจักรยานและคนเดินเท้า (Sofia et al., 2020)

ด้านการวิจัย : การเรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศในระหว่างสาขาการวิจัยมลพิษทางอากาศและด้านกิจกรรมทางกาย เพื่อเสริมสร้างหลักฐานที่อยู่บนความเชื่อมโยงทั้งสองสาขาและทางเลือกนโยบายอาจลดความเสี่ยงและเพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุด (Tainio et al., 2021)

ด้านการปรับตัว : แม้ว่าจะมีงานศึกษาวิจัยที่พยายามหาแนวทางในการมีกิจกรรมทางกายในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แต่ด้วยความความวิตกกังวลของประชาชนบางกลุ่มถึงผลกระทบอันร้ายแรงของการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 การเลือกที่จะมีพฤติกรรมเนือยนิ่งในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ซึ่งประชาชนอาจเลือกใช้วิธีนี้เนื่องจากออกไปมีกิจกรรมทางกายนอกไม่ได้ ต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ โดยมีการศึกษาวิจัยได้ระบุว่าการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศยังคงแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายแม้ในวันที่มีมลพิษก็ตาม สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษเล็กน้อยถึงปานกลางยังคงแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายมากกว่าการอยู่เฉย ๆ สำหรับฝุ่น PM2.5 รายวันที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 มคก./ลบ.ม. แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายระดับหนักเพิ่มอีก 13.6 นาที/วัน เพื่อถ่วงดุล (Zhang et al., 2022)

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการมีกิจกรรมทางกายภายใต้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านการลงมือทำง่าย ๆ ที่เริ่มด้วยตัวเรา โดยการเดินทางในระยะทางที่ไม่ไกลมากนักให้เลือกการเดินเท้าไปทำงานในชีวิตประจำวัน การเดินไปตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือวิธีการปั่นจักรยาน เพื่อลดการสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวการในการเกิด PM2.5 ในปัจจุบัน 

จากที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นการพัฒนาด้านกิจกรรมทางกาย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ทั้งการพัฒนาโครงสร้างที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายเหล่านี้ให้ครอบคลุมการใช้งานทุกกลุ่มวัย การศึกษาวิจัย รวมถึงการปรับตัวของประชาชนที่จะช่วยให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เบาบางลง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้ง ภาคประชาชนชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ  เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงภายใต้บรรยากาศที่ดีขึ้นในเร็ววัน


เอกสารอ้างอิง

กรมอนามัย (2563). คู่มือฉบับประชาชนการเฝ้าระวัง PM2.5 อย่างไรให้ปลอดภัย. https://hia.anamai.moph.go.th/web- upload/12xb1c83353535e43f224 a05e184d8fd75a/filecenter/PM2.5/book103.pdf 

กรมควบคุมมลพิษ (2565). รายงานสถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงของประเทศไทย ปี 2565. https://www.pcd.go.th/publication/30447

กรมควบคุมมลพิษ (2566). ประกาศดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย พ.ศ.2566 ปรับค่าสารมลพิษเข้มข้นขึ้น ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว. https://bit.ly/3QiKe3k

ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย พ.ศ. 2566. (3 กรกฎาคม 2566). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 140 ตอนพิเศษ 157 ง

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2566). การสำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2566

Campbell-Lendrum, D., & Prüss-Ustün, A. (2019). Climate change, air pollution and noncommunicable diseases. Bull World Health Organ, 97(2), 160-161. https://doi.org/10.2471/blt.18.224295

Endes, S., Schaffner, E., Caviezel, S., Dratva, J., Stolz, D., Schindler, C., Künzli, N., Schmidt-Trucksäss, A., & Probst-Hensch, N. (2017). Is physical activity a modifier of the association between air pollution and arterial stiffness in older adults: The SAPALDIA cohort study. International Journal of Hygiene and Environmental Health, 220(6), 1030-1038. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.ijheh.2017.06.001

Sofia, D., Gioiella, F., Lotrecchiano, N., & Giuliano, A. (2020). Mitigation strategies for reducing air pollution. Environmental Science and Pollution Research, 27(16), 19226-19235. https://doi.org/10.1007/s11356-020-08647-x

Tainio, M., de Nazelle, A. J., Götschi, T., Kahlmeier, S., Rojas-Rueda, D., Nieuwenhuijsen, M. J., de Sá, T. H., Kelly, P., & Woodcock, J. (2016). Can air pollution negate the health benefits of cycling and walking? Preventive Medicine, 87, 233-236. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.ypmed.2016.02.002

Tainio, M., Jovanovic Andersen, Z., Nieuwenhuijsen, M. J., Hu, L., de Nazelle, A., An, R., Garcia, L. M. T., Goenka, S., Zapata-Diomedi, B., Bull, F., & Sá, T. H. d. (2021). Air pollution, physical activity and health: A mapping review of the evidence. Environment International, 147, 105954. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.envint.2020.105954

World Health, O. (2020). WHO guidelines on physical activity and sedentary behaviour. World Health Organization. https://iris.who.int/handle/10665/336656

World Health, O. (2023). Noncommunicable diseases. World Health Organization. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases

Zhang, Y., Ke, L., Fu, Y., Di, Q., & Ma, X. (2022). Physical activity attenuates negative effects of short-term exposure to ambient air pollution on cognitive function. Environment International, 160, 107070. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.envint.2021.107070

SHARE

ผู้เขียน
ณัฏฐนันท์ ศิริโกสุม


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่